วิศวลาดกระบัง ร่วมกับ ที่ปรึกษา รมว.ทส. ลงพื้นที่ทดสอบประสิทธิภาพสารหน่วงไฟ หวังเพิ่มแนวทางแก้ไขปัญหาไฟป่าในอนาคต

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2568 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล โดย ศ.ดร.อุมา สีบุญเรือง รองคณบดี ลงพื้นที่ทำการทดสอบประสิทธิภาพสารหน่วงไฟ หรือสารป้องกันไฟ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและควบคุมไฟป่า ร่วมกับ พลเอกประชาพัฒน์ วัจนะรัตน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะ โดยมีทีมวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมทำการทดสอบ ณ แปลงตัวอย่าง ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่านันทนาการน้ำตกเขาอีโต้ จังหวัดปราจีนบุรี
.
การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อศึกษาและทดสอบประสิทธิภาพของสารป้องกันไฟในการป้องกันการติดไฟของเชื้อเพลิง รวมถึงทดสอบประสิทธิภาพของสารป้องกันไฟในการดับและควบคุมไฟป่า และวิเคราะห์ความปลอดภัยและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของสารป้องกันไฟ
.
“สารหน่วงไฟ หรือ สารป้องกันไฟ” นั้น มีคุณสมบัติในการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติในการติดไฟของเชื้อเพลิง หรือเข้าไปรบกวนขั้นตอนในกระบวนการเผาไหม้/สันดาป สารเคมีที่มีคุณสมบัติในการหน่วงไฟดีที่สุดได้แก่ ฟอสฟอรัส แอนติโมนี คลอไรน์ โบรไมน์ โบรอน และไนโตรเจน ซึ่งสารประกอบที่ใช้เป็นสารหน่วงไฟในการดับไฟป่าที่เป็นที่รู้จักกันดีและใช้งานกันอย่างกว้างขวาง ได้แก่ แอมโมเนียม ซัลเฟต และไดแอมโมเนียม ฟอสเฟต สารประกอบทั้งสองชนิดนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการหน่วงไฟสูง และเป็นสารที่มีองค์ประกอบใกล้เคียงกับปุ๋ยเคมีที่ใช้ในการเกษตร หาง่าย ราคาถูก และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่มากนัก สารป้องกันไฟที่ใช้ในการทดสอบนี้ คิดค้นโดยภาควิชาวิศวกรรมเคมี และทีมวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยจะผสมจากสารเคมีดังกล่าวที่ใช้ในทางการเกษตรและสารสกัดจากธรรมชาติเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของสารเคมีให้มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง เมื่อนำไปใช้ฉีดพ่นในพื้นที่ที่เกิดไฟป่าแล้ว หลักการทำงานของสารป้องกันไฟ คือ ตัดออกซิเจนออกจากวัสดุพื้นผิวหรือเชื้อเพลิง และลดความร้อนจากเปลวไฟลงได้ จึงเป็นการตัดวงจรการเกิดไฟ 2 อย่าง คือ ความร้อน และออกซิเจน ซึ่งเป็นองค์ประกอบของไฟ
ขอขอบคุณภาพบางส่วนจาก สวท.สระแก้ว